หลักการ และเหตุผล
ด้วยนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 และแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลโดยมีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้ทันต่อบริบทการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมและขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพหรือ Digital Transformation อันเป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งแนวทางการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพคือการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศของภาครัฐด้วยการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยสามารถนำข้อมูลสารสนเทศมาประมวลผลเพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจขององค์กรและการดำเนินภารกิจขององค์กรได้อีกด้วย ภายใต้ระบบการบริหารราชการแบบใหม่นี้จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล และให้บริการแก่ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทั้งนี้ การบูรณาการข้อมูลสารสนเทศของภาครัฐ มีการประสานและเชื่อมโยงกันใน 3 ระดับ คือ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ และการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน ซึ่งทั้ง 3 ระดับนี้จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรควบคู่ไปกับการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการกำกับติดตามการดำเนินงานให้สอดคล้องและ สามารถใช้ในการออกแบบการวางแผนงานเพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานอื่น ๆ
ในปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบสารสนเทศ เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลที่มีการจัดเก็บมีตั้งแต่ ข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลจัดเก็บตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ข้อมูลขยะมูลฝอยชุมชน ข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ชุดมาตรฐานข้อมูลท้องถิ่นและการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหางานด้านการติดตามและวิเคราะห์การใช้เงินงบประมาณและแผนงาน ซึ่งเป็นทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจน (Structured Data) เช่น การจัดเก็บในรูปแบบฐานข้อมูล และข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างชัดเจน (Unstructured Data) เช่น ข้อมูลเอกสาร ไฟล์เอกสารประเภทต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากการใช้ข้อมูลสารสนเทศที่มีความหลากหลาย ให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล และมีการบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้กำกับติดตามการดำเนินงาน และสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารได้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาระบบอัจฉริยะสนับสนุนการตัดสินใจและวิเคราะห์บริหารงานท้องถิ่น แบบบูรณการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ จากข้อมูล (Analytic) จากหลายแหล่งข้อมูลเพื่อนำมาแสดงสรุปผลข้อมูลในหลากหลายมิติ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้มความน่าจะเป็นจากสถานการณ์ต่าง ๆ และนำมากำหนดแนวทางทิศทางวางแผน การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
- เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการประมวลผลเชิงวิเคราะห์แบบออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลายมิติ
- เพื่อพัฒนาระบบการวิเคราะห์ประมวลข้อมูลแบบหลากหลายมิติและแสดงข้อมูลตามสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อน (Business Intelligent -BI)
- เพื่อพัฒนาระบบแสดงผลข้อมูลตามสถานการณ์และนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณเชิงแผนที่และรูปแบบอื่น ๆ
- เพื่อพัฒนาการแสดงผลข้อมูลพร้อมทั้งกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้น และระบบรายงาน (Dashboard) ที่สามารถดูข้อมูลได้หลายมิติ แบบเจาะลึก ปรับแต่งระบบให้มีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ ในอนาคต
เป้าหมาย
- มีระบบฐานข้อมูลที่เป็นแบบ Big Data และรองรับการเชื่อมโยง การสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผล และแสดงผลรายงานเชิงบริหาร สำหรับใช้สนับสนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารจัดการท้องถิ่นสำหรับตามยุทธศาสตร์และแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- ลดความซ้ำซ้อนในการให้บริการข้อมูลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ตอบสนองเป้าหมายที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งเสริม สนับสนุนในการจัดเตรียมเครื่องมือและข้อมูลเพื่อส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น